วันศุกร์ที่ 20 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

บทความที่ 4

ส่งงาน ครั้งที่ 6 เลือกบทความมา 1 บทความ

บทความที่ 4 ผลกระทบของการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารเกี่ยวกับการเรียนรู้ในการทำงานร่วมกันระหว่างองค์กรกับการใช้บริการจากภายนอกองค์กร
     จากบทความผลกระทบด้านต่าง ๆ ในการนำระบบสารสนเทศมาใช้ภายในองค์กร
ในการนำระบบสารสนเทศมาใช้ในองค์กรนั้น ผู้บริหารมีความคาดหวังให้เกิดผลที่ดีในด้านการปฏิบัติงาน และการบริหารงาน เช่น การเพิ่มผลิตผล (Productivity) โดยรวมขององค์กร ทำให้องค์กรสามารถนำเสนอสินค้า และ บริการใหม่ๆ ให้กับลูกค้า และคู่ค้าขององค์กร เพื่อเพิ่มศักยภาพในการแข่งขัน และเสริมภาพพจน์ที่ดีขององค์กร แต่อย่างไรก็ดี การนำระบบสารสนเทศมาใช้ภายในองค์กรนั้นก่อให้เกิดผลกระทบในการทำงานด้านต่างๆ ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อการทำงานโดยรวมขององค์กร ซึ่งผลกระทบเหล่านี้ ประกอบด้วย
1.      หลักฐานอ้างอิงของการทำรายการ (Audit Trail) ที่สามารถมองเห็นได้อาจขาดหายไป
          ในการนำระบบคอมพิวเตอร์มาประยุกต์ใช้นั้น อาจก่อให้เกิดกรณีที่เอกสารประกอบรายการทางธุรกิจต่างๆ ที่เคยมีอยู่ในกระบวนการทำงานปกติขาดหายไป ทั้งนี้ อาจเป็นเอกสารที่ใช้เฉพาะภายในองค์กร หรืออาจเป็นเอกสารที่ใช้สำหรับบุคคล หรือองค์กรภายนอกก็ได้ แต่ในความเป็นจริงแล้ว เอกสารอ้างอิง หรือเอกสารประกอบรายการอาจมิได้ขาดหายไป แต่อาจเป็นการเปลี่ยนแปลงรูปแบบจากที่เคยเป็นเอกสารที่เป็นกระดาษ หรือลายเซ็นที่สามารถพิสูจน์ความถูกต้องได้ง่าย กลายมาเป็นเอกสารที่เก็บอยู่ในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ในระบบงานสารสนเทศ ซึ่งทำให้กิจกรรมการควบคุมต่างๆ ที่จำเป็นต้องอ้างถึงเอกสารต่างๆ เหล่านี้ต้องเปลี่ยนแปลงวิธีการในการดำเนินการไป
2.      ระบบคอมพิวเตอร์ช่วยให้การควบคุมโดยการคุมงานมีประสิทธิภาพมากขึ้น
          การควบคุมที่ทำให้มั่นใจว่างานที่มอบหมายให้พนักงานทำมีการดำเนินการอย่างมีประสิทธิภาพตรงกับความต้องการของผู้ควบคุมงาน ก็คือ การควบคุมโดยการคุมงาน (Supervisory Control) ซึ่งการควบคุมในลักษณะนี้ หลายๆ กรณีต้องใช้ข้อมูลการทำงานประกอบการควบคุม และอาจจำเป็นต้องมีความรวดเร็วในการส่งข้อมูลให้ผู้ควบคุมงาน ซึ่งถ้าการทำงานนั้นๆ ใช้ระบบคอมพิวเตอร์ในการดำเนินการ           ผู้ควบคุมอาจสามารถใช้ข้อมูลในระบบงานนั้นๆ ประกอบการควบคุม ตัวอย่างของการควบคุมโดยการคุมงานที่ใช้คอมพิวเตอร์ เข้ามาช่วยนั้น มีดังต่อไปนี้
การใช้ระบบคอมพิวเตอร์ควบคุมการซื้อขายอัตราแลกเปลี่ยน (Foreign Exchange) ภายในห้องค้าเงิน (Dealing Room) โดยที่หัวหน้าห้องค้าเงินจะกำหนดเพดานของแต่ละสกุลเงินให้กับผู้ค้าเงินแต่ละรายก่อนเริ่มการซื้อขาย และระหว่างการซื้อขายระบบคอมพิวเตอร์จะคอยติดตามมูลค่า ของเงินแต่ละสกุล เมื่อมีผู้ค้าเงินรายใดที่มีมูลค่าเงินใกล้จะถึงเพดานสูงสุด ระบบจะส่งข้อมูลให้หัวหน้าห้องค้าเพื่อเป็นการเตือนให้ทำการควบคุม ดูแล อย่างใกล้ชิดยิ่งขึ้น
          อีกกรณีหนึ่งคือการนำระบบคอมพิวเตอร์มาช่วยในกระบวนการติดตามหนี้ทางโทรศัพท์ โดยที่ระบบคอมพิวเตอร์จะช่วยควบคุมการทำงานของพนักงานติดตามหนี้ ซึ่งระบบคอมพิวเตอร์จะบันทึกเวลาที่ใช้ในการโทรแต่ละครั้ง และบันทึกอัตราผลสำเร็จ เพื่อวิเคราะห์ และติดตามผลงานของพนักงานแต่ละคน
3.      ระบบคอมพิวเตอร์สามารถสร้างรายการหรือดำเนินการบางส่วนได้เอง
          ระบบคอมพิวเตอร์สามารถสร้างรายการทางธุรกิจขึ้นมาได้เอง ถ้าได้รับการออกแบบอย่างเหมาะสม เช่น การสั่งซื้อสินค้าเมื่อปริมาณสินค้าคงคลังลดลงจนถึงจุดสั่งซื้อ โดยเฉพาะอย่างยิ่งธุรกิจที่ต้องมีการสั่งซื้อสินค้ามากประเภท เช่น ธุรกิจค้าปลีก ห้างสรรพสินค้า และซูเปอร์มาร์เก็ต เป็นต้น
          ตัวอย่างอื่นๆ ในกรณีที่ระบบคอมพิวเตอร์ทำรายการเอง เช่น ระบบคอมพิวเตอร์อนุมัติรายการการใช้บัตรเครดิตทุกครั้งที่ผู้ถือบัตรใช้บัตรเครดิต ในการชำระค่าสินค้า หรือค่าบริการ หรือในกรณีที่ระบบคอมพิวเตอร์ส่งข้อความเพื่อทวงถามให้ผู้ใช้โทรศัพท์จ่ายค่าโทรศัพท์เมื่อมีการผิดนัดชำระเงิน เป็นต้น
          การที่ระบบคอมพิวเตอร์สามารถสร้างรายการได้เองนั้นมีทั้งผลดี และผลเสีย ผลดี คือการทำงานมีความถูกต้องแม่นยำ และไม่มีความลำเอียงในการตัดสินใจ ส่วนผลเสียคือ ถ้ามีข้อผิดพลาดเกิดขึ้นอาจทำให้ตรวจพบได้ยาก และหาผู้รับผิดชอบได้ยาก
4.      ระบบคอมพิวเตอร์มีความสม่ำเสมอในการประมวลผล
          คุณสมบัติด้านความคงที่ และสม่ำเสมอในการประมวลผลของระบบคอมพิวเตอร์นั้น เป็นคุณสมบัติที่ดีกว่าเมื่อเปรียบเทียบกับการประมวลผลด้วยมือ หรืออาจกล่าวได้ว่าถ้ามีการทดสอบโปรแกรมอย่างถูกต้องแล้ว โปรแกรมดังกล่าวจะประมวลผลรายการอย่างถูกต้องในทุกครั้งที่ทำการประมวลผล ยกเว้นมีปัจจัยภายนอกรบกวนการทำงานของโปรแกรมนั้นๆ เช่น เครื่องคอมพิวเตอร์หยุดทำงาน เป็นต้น อัตราความสม่ำเสมอในการทำงานของโปรแกรมคอมพิวเตอร์นั้น แทบจะเรียกได้ว่ามีความสม่ำเสมอในการประมวลผลเกือบร้อยเปอร์เซ็นต์
5.      การแบ่งแยกหน้าที่งานภายในระบบงานคอมพิวเตอร์
          ในการทำงานที่เป็นระบบมือ (Manual) นั้นการแบ่งแยกหน้าที่งานถือเป็นพื้นฐานสำคัญของการควบคุมภายใน เช่น การแบ่งแยกการสร้างรายการ การบันทึกรายการ และผู้เก็บรักษาทรัพย์สินให้เป็นคนละคนกัน เป็นต้น แต่ในระบบคอมพิวเตอร์ การทำงานบางส่วนอาจไม่จำเป็นต้องมีการแบ่งแยก เช่น ระบบคอมพิวเตอร์อาจถูกออกแบบมาให้ทำงานในลักษณะเบ็ดเสร็จ เช่น ระบบคอมพิวเตอร์ตรวจเช็คความถูกต้องของใบแจ้งหนี้กับรายการการรับของและจัดพิมพ์เช็คสั่งจ่ายให้กับผู้ขายสินค้าโดยโปรแกรมเดียวกัน
6.      การควบคุมอื่นๆ ต้องพึ่งพาระบบคอมพิวเตอร์
          ในกรณีที่การดำเนินการควบคุมอื่นๆ ภายในองค์กรจำเป็นต้องใช้ข้อมูล และรายงานจากระบบคอมพิวเตอร์ ซึ่งการควบคุมดังกล่าวจะสามารถดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพ และประสิทธิผลก็ต่อเมื่อข้อมูล และรายงานที่ได้รับจากระบบคอมพิวเตอร์มีความถูกต้อง และครบถ้วน ตัวอย่างของกรณีนี้ เช่น การใช้รายงานอายุหนี้ (Aging Report) เป็นส่วนหนึ่งในการควบคุมการติดตามหนี้นั้น ถ้ารายงานผิดพลาด การติดตามหนี้ก็จะขาดประสิทธิภาพและประสิทธิผลตามไปด้วย
          กรณีนี้เป็นกรณีที่ควรได้รับการเอาใจใส่ในการควบคุมความถูกต้องของข้อมูล และรายงานเป็นพิเศษ เพราะผู้ใช้งานอาจเชื่อด้วยความเคยชินว่ารายงานต่างๆ เหล่านั้นถูกต้อง และจะดำเนินการตามข้อมูลที่ปรากฏเป็นสำคัญ ซึ่งในบางกรณีอาจเกิดผลกระทบที่รุนแรงได้
7.      ผลกระทบต่อการตรวจสอบ
          เมื่อระบบคอมพิวเตอร์ทำให้ลักษณะของการทำงาน และการควบคุมเปลี่ยนแปลงไป ย่อมจะมีผลกระทบทำให้การตรวจสอบเปลี่ยนแปลงตามไปด้วย ซึ่งสามารถสรุปผลกระทบออกเป็น 2 ด้านที่สำคัญ คือ ผลกระทบในการรวบรวมหลักฐานการตรวจสอบ (Audit Evidence Collection) และผลกระทบต่อการวิเคราะห์หลักฐานการตรวจสอบ
          ในด้านการรวบรวมหลักฐานนั้น ผู้ตรวจสอบอาจมีความจำเป็นต้องรวบรวมหลักฐานการตรวจสอบจากระบบคอมพิวเตอร์โดยตรง ถ้าหลักฐานเหล่านั้นเก็บไว้เฉพาะในระบบคอมพิวเตอร์ โดยอาจใช้ซอฟต์แวร์สำหรับ การตรวจสอบเพื่อรวบรวมหลักฐาน
          ในส่วนของการวิเคราะห์หลักฐานในการตรวจสอบ ผู้ตรวจสอบก็สามารถใช้ซอฟต์แวร์สำหรับการตรวจสอบเพื่อวิเคราะห์หลักฐานต่างๆ เหล่านี้ ซึ่งข้อได้เปรียบของการวิเคราะห์โดยวิธีนี้ คือผู้ตรวจสอบสามารถตรวจสอบรายการเป็นจำนวนมาก ซึ่งในบางกรณีอาจวิเคราะห์หลักฐานการตรวจสอบได้เป็นจำนวนทั้งหมด หรือร้อยเปอร์เซ็นต์ของจำนวนรายการทั้งหมด
          นอกเหนือจากหลักฐานการตรวจสอบด้านอื่นๆ แล้ว หลักฐานที่เกี่ยวข้องกับการตรวจสอบระบบสารสนเทศ ก็อาจมีความแตกต่างไปจากการตรวจสอบอื่นๆ กล่าวคือ หลักฐานดังกล่าวต้องเป็นหลักฐานที่ได้จากระบบคอมพิวเตอร์โดยตรง เช่น การตรวจสอบค่าพารามิเตอร์ (Computer Parameters) ที่เกี่ยวข้องกับการรักษาความปลอดภัย เป็นต้น
8.      การเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีสารสนเทศค่อนข้างรวดเร็ว
          เทคโนโลยีสารสนเทศเป็นเทคโนโลยีที่นับได้ว่ามีการเปลี่ยนแปลงที่ค่อนข้างรวดเร็ว ถ้าเปรียบเทียบกับเทคโนโลยีด้านอื่นๆ ซึ่งทำให้องค์กรต่างๆ ต้องมีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงการใช้เทคโนโลยีอย่างต่อเนื่อง รวมถึงการเปลี่ยนแปลงวิธีการทำงาน และการเสริมสร้างความรู้ความสามารถของบุคลากรอย่างต่อเนื่องเพื่อให้ทันกับเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไป
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในส่วนที่เกี่ยวกับการควบคุมและการรักษา ความปลอดภัยระบบสารสนเทศ ซึ่งในแต่ละวันอาจมีความเสี่ยงด้านความปลอดภัยประเภทใหม่ๆ เกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา ทำให้องค์กรต้องปรับปรุงระบบควบคุม และรักษาความปลอดภัยอยู่ตลอดเวลา

ผลกระทบของ Outsourcing
          สาเหตุหลักของความนิยมแนวคิด Outsourcing ขององค์กรต่างๆ มาจาก ความพยายามที่จะสร้างองค์กรของตน ให้สามารถปรับเปลี่ยนตัวเองได้อย่างยืดหยุ่น รวมถึงให้มีความสามารถที่จำเป็นอย่างเพียงพอ เพื่อรับมือกับความเปลี่ยนแปลงในด้านต่างๆ อย่างเท่าทัน โดยมีความอยู่รอด เป็นเป้าหมายสูงสุด
          วิถีการ Outsourcing สะท้อนภาพความพยายามลดขนาดองค์กรลง เพื่อลดต้นทุนด้านการจ้างแรงงานถาวรเพิ่มเติม และสะท้อนภาพความพยายามแก้ปัญหา การไม่สามารถพัฒนาบุคลากรภายในองค์ ให้สามารถปฏิบัติงานซึ่งต้องการองค์ความรู้ใหม่ๆ ได้ทันตามความต้องการ
หนึ่งในตัวแปรสำคัญ ที่ทำให้ความนิยมการ Outsourcing เพิ่มขึ้น คือ สภาพความจำเป็นที่องค์กรต้องนำ ICTมาประยุกต์ใช้ ในการดำเนินการด้านต่างๆเพิ่มมากขึ้น
          พร้อมกันนี้ การที่เทคโนโลยี ICT มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ก็ยิ่งเป็นผลผลักดันให้องค์กรต่างๆ มีแนวโน้มเลือกใช้การ Outsourcing เพิ่มขึ้น  เนื่องจาก การประยุกต์ใช้ ICT แต่ละประเภท ทำให้องค์กรมีความต้องการทรัพยากรบุคคล ที่มีความรู้ความสามารถ ซึ่งเหมาะสมและสอดคล้อง กับเทคโนโลยีที่นำมาใช้  นั่นหมายความว่า ในทุกครั้งที่ประสงค์นำเทคโนโลยีใหม่มาประยุกต์ใช้ องค์กรจำเป็นต้องดำเนินการ ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง เพื่อจัดหาบุคคลที่มีความสามารถสอดคล้องกับเทคโนโลยี มาทำงานให้กับองค์กรและเมื่อวิเคราะห์จากมุมมองความคุ้มค่าในการลงทุน องค์กรต่างๆมักมองว่า การว่าจ้างแรงงานระยะสั้นจากภายนอก ที่มีความสามารถตามต้องการ หรือการ Outsourcing มีความคุ้มค่ากว่า การพัฒนาทรัพยากรบุคคลภายใน ให้มีความรู้และความสามารถ ในระดับที่องค์กรต้องการ เนื่องจากทางเลือกที่สอง มักถูกมองว่า เป็นทางเลือกที่ต้องใช้เวลาและใช้เงินลงทุน แต่ไม่อาจรับประกันความสำเร็จได้ว่า องค์กรจะได้บุคลากรที่มีความสามารถ ในระดับและได้ทันในเวลาที่ต้องการ
          การ Outsourcing อาจเป็นแนวทาง ที่ช่วยให้องค์กรสามารถรับมือกับความต้องการใช้งาน ICT ที่เพิ่มมากขึ้น และสามารถรับมือกับทางเทคโนโลยี ICT ที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว
แต่การ Outsourcing จะเป็นเพียงแค่การแก้ปัญหาเฉพาะหน้า ซึ่งอาจนำมาซึ่งปัญหาอื่นๆต่อไป หากแนวทางดังกล่าว มุ่งรับมือแค่เพียงอุปสรรคข้างต้น โดยไม่สนใจผลกระทบ ทั้งในระดับองค์กรและในระดับปัจเจกบุคคล อันเกิดจากการ Outsourcing
          ผลกระทบในระดับองค์กรที่อาจเกิดขึ้น หากองค์กรใดขาดการวางแผนการ Outsourcing อย่างรอบคอบ ก็คือ ความเสี่ยงต่อการสูญเสีย ความสามารถหลักในการแข่งขันขององค์กร
          ความสามารถหลักในการแข่งขันขององค์กร หมายถึง ความรู้ ความสามารถ วิถีปฏิบัติ แนวความคิด รวมทั้งวัฒนธรรมและจิตวิญญาณองค์กร ที่ทำให้องค์กรยังคงสามารถแข่งขันได้ในตลาด หรือทำให้องค์กรมีความได้เปรียบในการแข่งขัน
          หากองค์กรทำการ Outsourcing การดำเนินงาน ที่ถือว่ามีความสำคัญ หรือมีคุณค่าต่อองค์กรออกไป องค์กรนั้นมีความเสี่ยงที่จะสูญเสีย ความรู้ ความสามารถ และวิถีปฏิบัติ ที่สำคัญและจำเป็นต่อการแข่งขันในตลาด ซึ่งถือเป็นหนึ่งในความสามารถหลักในการแข่งขันขององค์กร
หากองค์กรใช้การ Outsourcing มากจนเกินไป อาจส่งผลให้ความเข้มแข็ง ของความสัมพันธ์ภายในองค์กรลดลง อันเนื่องจากสังคมการทำงานภายในองค์กร ถูกแทรกแทรงด้วยสังคมการทำงาน ของบุคลากรภายนอก ซึ่งอาจส่งผลให้องค์กร มีความเสี่ยงที่จะสูญเสีย วัฒนธรรมและจิตวิญญาณองค์กร ซึ่งถือเป็นหนึ่งในความสามารถหลักในการแข่งขันขององค์กร
          นอกจากนี้ หากมองในด้านความสัมพันธ์ ระหว่างองค์กรและบุคลากรภายใน การ Outsourcing มักทำให้ความสัมพันธ์นี้อ่อนแอลง อีกทั้งยังส่งผลให้พนักงานมีความรักองค์กรลดลงอีกด้วย ซึ่งความรักองค์กรนั้น ถือได้ว่าเป็นแนวคิดที่ทำให้องค์กรสามารถแข่งขันได้อย่างเข้มแข็ง
          แนวโน้มการนำการ Outsourcing มาใช้ สะท้อนภาพที่ว่า องค์กรต่างๆให้ความสำคัญ กับการได้มาซึ่งแรงงาน ที่มีความสามารถตามที่ต้องการ ในเวลาที่ต้องการ ซึ่งเป็นการให้ความสำคัญ กับผลประโยชน์ระยะสั้น มากกว่าการให้ความสำคัญกับบุคลากรภายใน โดยการพัฒนาบุคลากรภายใน ให้มีความรู้ความสามารถ ที่จำเป็นต่อการทำงานในปัจจุบัน ซึ่งเป็นผลประโยชน์ในระยะยาว
          อีกทั้งการ Outsourcing ยังก่อให้เกิดความเสี่ยง ในการสูญเสียบุคลากรผู้มีความสามารถสูง หรือที่เรียกว่า ภาวะสมองไหลอันเนื่องมาจากองค์กร มีแนวโน้มให้ความสำคัญกับบุคลากรภายในลดลง
          ในขณะที่การ Outsourcing ส่งผลกระทบในระดับองค์กร มันก็ส่งผลกระทบในระดับปัจเจกบุคคล ด้วยเช่นกัน
          โดยผลกระทบในระดับปัจเจกบุคคล เกิดขึ้นในลักษณะของ ความไม่พร้อมของแต่ละปัจเจกบุคคล รวมทั้งความไม่พร้อมของกลไกทางสังคมต่างๆ เพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงไปของความสัมพันธ์ ระหว่างพนักงานผู้ถูกจ้างและองค์กรผู้ว่าจ้าง และการเปลี่ยนแปลงไปของตลาดแรงงาน
          ภาพที่เกิดขึ้น คือ บุคลากรภายในองค์กร มีแนวโน้มได้รับการพัฒนา ศักยภาพในการทำงานน้อยลง และเริ่มมีการปลดพนักงานมากขึ้น เนื่องจากองค์กรต่างๆมุ่งลดขนาดองค์กรลง อีกทั้งรูปแบบองค์กรต่างๆเริ่มเปลี่ยนเป็นลักษณะของ องค์กรมืออาชีพที่มีความสามารถเฉพาะมากขึ้น
          ความสัมพันธ์ระหว่าง พนักงานผู้ถูกจ้างและองค์กรผู้ว่าจ้าง จะเปลี่ยนแปลงไป โดยเป็นไปในลักษณะของความสัมพันธ์ระยะสั้นมากขึ้น นั้นคือ ผู้ว่าจ้างและผู้ถูกจ้าง จะทำงานร่วมกันเป็นรายโครงการ ตกลงร่วมงานกันโดยดูที่ ผลตอบแทนที่คุ้มค่ากับระดับความสามารถ ในการทำให้โครงการเกิดผลสัมฤทธิ์
          ในปัจจุบัน ภาพเหล่านี้ถูกสะท้อนด้วย การเกิดขึ้นอย่างมากมายและการได้รับความนิยม ของบริษัทที่ปรึกษาหรือบริษัทรับเหมาทำงานเฉพาะด้าน (Professional Services Organisation) ในด้านต่างๆ
          นั่นหมายความว่า แต่ละปัจเจกบุคคลผู้กำลังเล่นบท ผู้ถูกว่าจ้าง มีแนวโน้มที่จักต้องรับผิดชอบพัฒนา ศักยภาพในการทำงานด้วยตนเอง และต้องพร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลง ของรูปแบบและเงื่อนไขความสัมพันธ์ ระหว่างตนเองกับผู้ว่าจ้าง ซึ่งมีแนวโน้มเป็นความสัมพันธ์ระยะสั้นมากขึ้น
          นอกจากนี้ หากมองจากมุมของตลาดแรงงาน จักต้องมีการนำกลไกใหม่ๆ เข้ามาใช้สนับสนุนการทำงานของตลาดแรงงาน เพื่อให้สามารถรับมือกับความเปลี่ยนแปลงข้างต้นได้
ตัวอย่างของกลไกดังกล่าว ได้แก่ กลไกการให้ความรู้ เกี่ยวกับปรากฏการณ์ดังกล่าว กับผู้กำลังเล่นบทผู้ถูกว่าจ้าง กลไกสนับสนุนผู้กำลังเล่นบทผู้ถูกว่าจ้าง ให้สามารถพัฒนาตนเอง อย่างเหมาะสมในสายอาชีพตน และกลไกอื่นๆ ที่สามารถช่วยรับมือกับ สถานการณ์ซึ่งผู้กำลังเล่นบทผู้ถูกว่าจ้าง ได้รับผลกระทบ จากการเปลี่ยนไปของตลาดแรงงาน เป็นต้น
          นอกจาก ICT จะเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญ ซึ่งมีผลโดยตรงกับปรากฏการณ์ทั้งหมดข้าง ความสามารถของมันยังเป็นตัวแปรสนับสนุน ซึ่งมีผลทางอ้อมกับปรากฏการณ์ดังกล่าวอีกด้วย
โดยความสามารถของ ICT ที่ทำให้โลกทั้งใบสื่อสารถึงกันได้อย่างง่ายดาย ภายในระยะเวลาอันน้อยนิด และด้วยต้นทุนที่ต่ำลงอย่างมาก ทำให้องค์กรที่กำลังมองหาผู้เข้ามาดำเนินการ Outsourcing สามารถเข้าถึงตัวเลือกอย่างมากมาย อีกทั้งยังทำให้การประสานงาน ระหว่างผู้ต้องการและผู้รับการ Outsourcing ทำได้อย่างง่ายดาย รวดเร็ว และมีประสิทธิภาพ  ซึ่งเงื่อนไขทั้งหมดนี้ ช่วยสนับสนุนให้องค์กรต่างๆ มีแนวโน้มเลือกใช้การOutsourcing มากขึ้น

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น