วันศุกร์ที่ 24 มกราคม พ.ศ. 2557

สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา  สยามบรมราชกุมารี กับ การจัดการองค์ความรู้ ในมุมมองของข้าพเจ้า
        สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา  สยามบรมราชกุมารี พระองค์ทรงเริ่มเข้ารับการศึกษาระดับอนุบาลที่โรงเรียนจิตรลดา และทรงศึกษาต่อในโรงเรียนจิตรลดาจนถึงระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย ทรงสอบไล่จบชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย ในแผนกศิลปะ ด้วยคะแนนสูงสุดของประเทศ หลังจากนั้น พระองค์ทรงสอบเข้าศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษา คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยสามารถทำคะแนนสอบเอนทรานซ์เป็นอันดับ 4 ของประเทศ ซึ่งถือเป็นสมเด็จเจ้าฟ้าพระองค์แรกที่ทรงเข้าศึกษาต่อระดับอุดมศึกษาในประเทศจนกระทั่งพระองค์ทรงสำเร็จการศึกษาได้รับปริญญาอักษรศาสตรบัณฑิต สาขาประวัติศาสตร์ เกียรตินิยมอันดับหนึ่ง เหรียญทอง ด้วยคะแนนเฉลี่ย 3.98 พระองค์ทรงเข้าศึกษาต่อในระดับปริญญาโท ด้านจารึกภาษาตะวันออก (ภาษาสันสกฤต และภาษาเขมร)  คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากรและสาขาภาษาบาลีและสันสกฤต จาก ภาควิชาภาษาตะวันออก คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในระหว่างนั้น มีพระราชกิจมากจนทำให้ไม่สามารถทำวิทยานิพนธ์ในระดับปริญญาโทได้พร้อมกันทั้ง 2  มหาวิทยาลัย พระองค์จึงตัดสินพระทัยเลือกทำวิทยานิพนธ์เพื่อให้สำเร็จการศึกษาที่คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากรก่อน โดยทรงทำวิทยานิพนธ์หัวข้อเรื่อง จารึกพบที่ปราสาทพนมรุ้งทรงสำเร็จการศึกษาได้รับปริญญาศิลปศาสตรมหาบัณฑิต หลังจากนั้น พระองค์ทรงทำวิทยานิพนธ์หัวข้อเรื่อง ทศบารมีในพุทธศาสนาเถรวาททรงสำเร็จการศึกษาได้รับปริญญาอักษรศาสตรมหาบัณฑิต จากคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และได้เข้ารับพระราชทานปริญญาบัตร พระองค์ทรงเข้าศึกษาต่อในระดับปริญญาเอก ณ คณะศึกษาศาสตร์   มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ โดยพระองค์ผ่านการสอบคัดเลือกอย่างยอดเยี่ยมด้วยคะแนนเป็นอันดับหนึ่งในบรรดาผู้เข้าสอบทั้งหมด และทรงเป็นนิสิตปริญญาการศึกษาดุษฎีบัณฑิต สาขาพัฒนศึกษาศาสตร์ รุ่นที่ 4 พระองค์ทรงทำวิทยานิพนธ์ในหัวข้อเรื่อง การพัฒนานวัตกรรมเสริมทักษะการเรียนการสอนภาษาไทยสำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายเนื่องจากพระองค์ทรงตระหนักว่าสภาพการเรียนการสอนภาษาไทยนั้นมีปัญหา เพราะนักเรียนไม่ค่อยสนใจเรียนภาษาไทย มีความรู้ ความสามารถ ทักษะในการเข้าใจและใช้ภาษาไม่เพียงพอ พระองค์จึงทรงนำเสนอวิธีการสอนภาษาไทยในลักษณะนวัตกรรมเสริมทักษะการเรียนการสอน เพื่อส่งเสริมความสนใจในการเรียนภาษาไทยของนักเรียนและเป็นสื่อที่จะช่วยให้ครูสอนภาษาไทยได้ง่ายขึ้น พระองค์ทรงสอบผ่านวิทยานิพนธ์อย่างยอดเยี่ยม สภามหาวิทยาลัยอนุมัติให้ทรงสำเร็จการศึกษาในระดับปริญญาเอก จากการศึกษาของพระองค์ได้พยายามเพื่อที่จะเพิ่มพูนความรู้ตลอดเวลาและมุ่งเน้นเพื่อปวงชนชาวไทย


สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา  สยามบรมราชกุมารี พระองค์เป็นผู้มีพระปรีชาสามารถในหลาย ๆ ด้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งทางด้านอักษรศาสตร์ เพราะขณะที่ทรงพระเยาว์นั้น สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงสอนภาษาไทยแก่พระราชโอรสและพระราชธิดา โดยทรงอ่านวรรณคดีเรื่องต่างๆ พระราชทาน และทรงให้พระองค์ทรงคัดบทกลอนต่างๆ หลายตอน ทำให้พระองค์โปรดวิชาภาษาไทยตั้งแต่นั้นมา นอกจากนี้ ยังทรงสนพระทัยในภาษาอังกฤษและภาษาบาลีด้วย พระองค์จึงทรงมีความรู้ทางด้านภาษาบาลี ภาษาสันสกฤต และภาษาเขมร ทรงสามารถรับสั่งเป็นภาษาอังกฤษ ภาษาฝรั่งเศส และภาษาจีน และทรงกำลังศึกษา ภาษาเยอรมัน และภาษาลาตินอีกด้วย พระปรีชาสามารถทางด้านภาษาของพระองค์นั้นจึงเป็นที่ประจักษ์ และด้านดนตรี พระองค์ทรงเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านดนตรีไทยผู้หนึ่ง โดยทรงเครื่องดนตรีไทยได้ทุกชนิด แต่ที่โปรดทรงอยู่ประจำ คือ ระนาด ซอ และฆ้องวง โดยเฉพาะระนาดเอก พระองค์ทรงเริ่มหัดดนตรีไทย ในขณะที่ทรงศึกษาอยู่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 โรงเรียนจิตรลดา โดยทรงเลือกหัดซอด้วงเป็นเครื่องดนตรีชิ้นแรก และได้ทรงดนตรีไทยในงานปิดภาคเรียนของโรงเรียน ทรงเล่นซอด้วงเป็นหลักและทรงเริ่มหัดเล่นเครื่องดนตรีไทยชิ้นอื่น ๆ ด้วย นอกจากดนตรีไทยแล้ว พระองค์ยังทรงดนตรีสากลด้วย โดยทรงเริ่มเรียนเปียโนตั้งแต่พระชนมายุ 10 พรรษา แต่ได้ทรงเลิกเรียนหลังจากนั้น 2 ปี และทรงฝึกเครื่องดนตรีสากล ประเภทเครื่องเป่า จากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จนสามารถทรงทรัมเป็ตนำวงดุริยางค์ในงานคอนเสิร์ตสายใจไทย และทรงระนาดฝรั่งนำวงดุริยางค์ในงานกาชาดคอนเสิร์ต
ด้านพระราชนิพนธ์ พระองค์โปรดการอ่านหนังสือและการเขียนมาตั้งแต่ทรงพระเยาว์ รวมกับพระปรีชาสามารถทางด้านภาษาทั้งภาษาไทยและต่างประเทศ ร้อยแก้วและร้อยกรอง ดังนั้น จึงทรงพระราชนิพนธ์หนังสือประเภทต่าง ๆ ออกมามากกว่า 100 เล่ม ซึ่งมีหลายหลากประเภททั้งสารคดีท่องเที่ยวเมื่อเสด็จพระราชดำเนินเยือนต่างประเทศ เช่น เกล็ดหิมะในสายหมอก ทัศนะจากอินเดีย มนต์รักทะเลใต้ ประเภทวิชาการและประวัติศาสตร์ เช่น บันทึกเรื่องการปกครองของไทยสมัยอยุธยาและต้นรัตนโกสินทร์ กษัตริยานุสรณ์ หนังสือสำหรับเยาวชน เช่น แก้วจอมแก่น แก้วจอมซน หนังสือที่เกี่ยวข้องกับพระบรมวงศานุวงศ์ไทย เช่น สมเด็จแม่กับการศึกษา สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีกับพระราชกรณียกิจพระราชจริยาวัตรด้านการศึกษา ประเภทพระราชนิพนธ์แปล เช่น หยกใสร่ายคำ ความคิดคำนึง เก็จแก้วประกายกวี และหนังสือทั่วไป เช่น นิทานเรื่อง เรื่องของคนแขนหัก เป็นต้น นอกจากนี้ ยังทรงพระราชนิพนธ์เพลงเป็นจำนวนมาก โดยบทเพลงที่ดังและนำมาขับร้องบ่อยครั้ง ได้แก่ เพลงส้มตำ รวมทั้ง ยังทรงประพันธ์คำร้องในบทเพลงพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ได้แก่ เพลง รัก และ เพลง เมนูไข่ พระองค์ได้นำความรู้มาใช้ในการอนุรักษ์ ส่งเสริม และให้การอุปถัมภ์ในด้านศิลปวัฒนธรรมของประเทศ พระองค์ทรงสนพระทัยด้านศิลปวัฒนธรรมมาตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์ โดยเฉพาะทางด้านดนตรีไทย  ซึ่งพระองค์ทรงสนับสนุนในการอนุรักษ์ สืบทอด เผยแพร่ความรู้ด้านดนตรีไทยอย่างต่อเนื่องมาโดยตลอด โดยทรงเป็นแบบอย่างในการเสด็จทรงเครื่องดนตรีไทยร่วมกับประชาชนทั้งในและต่างประเทศ นอกจากนี้ ยังทรงอนุรักษ์ดนตรีไทยโดยการชำระโน้ตเพลง บันทึกเพลงเก่า และเผยแพร่งานเหล่านั้นอย่างต่อเนื่อง และส่งเสริมให้สถาบันการศึกษาต่าง ๆ จัดการเผยแพร่งานทางด้านดนตรีไทย ซึ่งจากงานทางด้านการอนุรักษ์ดนตรีไทย ครูเสรี หวังในธรรม ได้กล่าวไว้ว่า ดนตรีไทยไม่สิ้นแล้ว เพราะพระทูลกระหม่อมแก้วเอาใจใส่ นอกจากด้านดนตรีไทยแล้ว พระองค์ยังประกอบพระราชกรณียกิจมากมายเพื่อการอนุรักษ์และพัฒนาศิลปวัฒนธรรมไทยทั้งในด้าน การช่างไทย นาฏศิลป์ไทย งานพิพิธภัณฑ์ ประวัติศาสตร์และโบราณสถาน ภาษาและวรรณกรรมไทย พระองค์ได้รับการทูลเกล้าฯ ถวายพระสมัญญาว่า เอกอัครราชูปถัมภกมรดกวัฒนธรรมไทยเมื่อ พ.ศ. 2531 และ วิศิษฏศิลปินเมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2546  เพื่อเทิดพระเกียรติที่พระองค์ทรงพระปรีชาสามารถในศิลปะหลายสาขา รวมทั้ง ทรงมีคุณูปการต่อเหล่าศิลปินและศิลปวัฒนธรรมของชาติ
นอกจากนี้ พระองค์ยังทรงประกอบพระราชกรณียกิจในด้านต่าง ๆ เช่น ด้านการศึกษา เมื่อพระองค์ทรงสำเร็จการศึกษาในระดับอุดมศึกษาแล้ว ทรงเข้ารับราชการเป็นพระอาจารย์ประจำกองวิชากฎหมายและสังคมศาสตร์ ส่วนการศึกษา ทรงสอนวิชาประวัติศาสตร์ไทยและสังคมวิทยา พระองค์จึงทรงเป็น "ทูลกระหม่อมอาจารย์" สำหรับนักเรียนนายร้อยตั้งแต่นั้น ต่อมาเมื่อมีการตั้งกองวิชาประวัติศาสตร์ขึ้นในปี พ.ศ. 2530 พระองค์ทรงดำรงตำแหน่งเป็นผู้อำนวยการกองวิชาประวัติศาสตร์จนถึงปัจจุบันและทรงได้รับการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้เป็นศาสตราจารย์ ส่วนการศึกษา ประจำโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้าเมื่อวันที่ 2 มิถุนายน พ.ศ. 2529 และเป็นศาสตราจารย์ ส่วนการศึกษา ประจำโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า (อัตราจอมพล) เมื่อปี พ.ศ. 2543  นอกจากนี้ พระองค์ยังได้ทรงรับเชิญเป็นพระอาจารย์สอนในสถาบันอุดมศึกษาต่างๆ เช่น จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยเฉพาะที่มหาวิทยาลัย ศรีนครินทรวิโรฒนั้น พระองค์ได้รับการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้เป็นศาสตราจารย์พิเศษ สาขาพัฒนาศึกษาศาสตร์ด้วย
ในปี พ.ศ. 2525 ทรงพระราชดำริให้ก่อตั้งโรงเรียนพระตำหนักสวนกุหลาบ ขึ้นในพระบรมมหาราชวัง เพื่อเปิดโอกาสทางการศึกษาให้กับบุตรหลานข้าราชบริพารและประชาชนทั่วไป เปิดทำการสอนครั้งแรกในปีการศึกษา 2525 โดยทรงดำรงตำแหน่งเป็นองค์ประธานกรรมการคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐานโรงเรียนพระตำหนักสวนกุหลาบ และทรงเข้าร่วมการประชุมคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐานทุกครั้ง รวมถึงเสด็จพระราชดำเนินไปในงานปิดภาคเรียนของโรงเรียนทุกครั้ง เพื่อพระราชทานทุนพระราชทานส่งเสริมการเรียนดี และพระราชทานประกาศนียบัตรแก่ผู้สำเร็จการศึกษาขั้นพื้นฐานจากสถานศึกษาต่าง ๆ คือ โรงเรียนพระตำหนักสวนกุหลาบ วิทยาลัยในวังชาย วิทยาลัยในวังหญิง โรงเรียนผู้ใหญ่พระดาบส ศูนย์การศึกษานอกโรงเรียนกาญจนาภิเษก (วิทยาลัยในวัง) กาญจนาภิเษกวิทยาลัย (ช่างทองหลวง)
ในปี พ.ศ. 2533 เมื่อครั้งที่พระองค์เสด็จฯ เยือนสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวครั้งแรก ได้มีผู้มีจิตศรัทธาบริจาคทุนทรัพย์โดยเสด็จพระราชกุศลเป็นเงิน 12 ล้านกีบ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้นำเงินไปก่อสร้างเรือนนอนให้แก่โรงเรียนวัฒนธรรมเด็กกำพร้า (หลัก 67) ซึ่งอยู่ห่างจากนครหลวงเวียงจันทน์ไปทางทิศเหนือประมาณ 67 กิโลเมตร พระราชทานชื่อว่า อาคารสิรินธรโดยมีพระราชดำริที่จะช่วยเหลือนักเรียนให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ในรูปแบบของโครงการเกษตรเพื่ออาหารกลางวัน โดยนำแนวทางที่ดำเนินการในประเทศไทยมาประยุกต์ใช้ และสนับสนุนการประกอบอาชีพเสริม
พ.ศ. 2535 ทรงพระราชดำริพระราชทานความช่วยเหลือกัมพูชาในการก่อตั้งวิทยาลัยกำปงเฌอเตียล  จังหวัดกำปงธม ประเทศกัมพูชา โดยพระราชทานเงินค่าใช้จ่ายในการก่อสร้างอาคารสถานที่ต่าง ๆ เสด็จฯ ไปทรงเปิดวิทยาลัย และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานทุนแก่นักเรียนเพื่อให้มาศึกษาต่อในประเทศไทยในหลักสูตรครุศาสตรบัณฑิตและหลักสูตรอาชีวศึกษา เพื่อนำความรู้กลับไปสอนและพัฒนาการจัดการศึกษาของวิทยาลัย รวมทั้งทรงสนับสนุนการศึกษาด้านนาฏศิลป์และดนตรี
ในปี พ.ศ. 2549 พระองค์ทรงมีแนวความคิดจัดตั้งโครงการพัฒนานักอักษรศาสตร์รุ่นใหม่ขึ้น โดยความร่วมมือของโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาและคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อสร้างนักอักษรศาสตร์ที่มีมุมมองและแนวคิดใหม่เพื่อเป็นกำลังของชาติ มีพระวิสัยทัศน์ก้าวไกล ทรงสนับสนุนการช่วยเหลือ โรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ ให้เป็นโรงเรียนผลิตนักวิจัย นักวิทยาศาสตร์ สร้าง "องค์ความรู้" ให้แก่ประเทศไทย
ด้านการพัฒนาสังคม พระองค์ทรงมีโครงการในพระราชดำริส่วนพระองค์หลายหลากโครงการ ซึ่งโครงการในระยะเริ่มต้น มุ่งเน้นทางด้านการแก้ปัญหาการขาดสารอาหารของเด็กในท้องถิ่นทุรกันดารและพัฒนามาสู่การให้ความสำคัญทางด้านการศึกษาเพื่อการพัฒนาราษฏร พระองค์ทรงสนพระทัยงานด้านการพัฒนา ซึ่งถือเป็นงานหลักที่พระองค์ทรงงานควบคู่กับงานวิชาการ พระองค์ทรงเรียนรู้งานทางด้านพัฒนาจากการตามเสด็จพระราชดำเนินพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถไปทรงเยี่ยมประชาชนในถิ่นทุรกันดารต่าง ๆ ทั่วประเทศ จากการที่พระองค์ทรงได้เสด็จฯ ไปตามสถานที่ต่าง ๆ มากมาย พระองค์ทรงนำความรู้ที่ได้จากการลงพื้นที่จริงมาใช้ในงานด้านการพัฒนาสังคม นำไปสู่โครงการตามพระราชดำริส่วนพระองค์มากมาย โครงการตามพระราชดำริในระยะเริ่มแรกนั้น พระองค์ทรงงานเกี่ยวกับเด็กนักเรียนในพื้นที่ทุรกันดารที่มีปัญหาขาดสารอาหาร ดังนั้น จึงทรงพระราชดำริส่งเสริมให้นักเรียนปลูกพืช เลี้ยงสัตว์ แล้วนำมาประกอบเป็นอาหารกลางวันรับประทาน โครงการเกษตรเพื่ออาหารกลางวันนี้ เริ่มต้นขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2523 โดยเริ่มที่โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนในจังหวัดราชบุรี กาญจนบุรี และประจวบคีรีขันธ์ และได้ขยายออกไปยัง 44 จังหวัดในพื้นที่ทุรกันดาร โครงการในพระราชดำริในระยะต่อมา พระองค์ทรงมุ่งเน้นทางด้านการศึกษามากขึ้น เนื่องจากพระองค์ทรงพระราชดำริว่า การศึกษาเป็นปัจจัยหลักในการสร้างและพัฒนาความรู้ ความคิด ตลอดจนความประพฤติและคุณงามความดีของบุคคล โดยพระองค์ทรงตั้งพระทัยให้ประชาชนทุกระดับชั้นสามารถได้รับการศึกษาอย่างเท่าเทียมกัน ซึ่งถือเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่ประชาชนควรได้รับจากรัฐ
ด้านการพัฒนาห้องสมุดและการรู้หนังสือ สมเด็จพระเทพรัตน์ราชสุดาสยามบรมราชกุมารี ทรงสนพระทัยการอ่านและการพัฒนาห้องสมุด ทรงรับสมาคมห้องสมุดแห่งประเทศไทยฯไว้ในพระราชูปถัมภ์ หลายโอกาสที่พระองค์เสด็จพระราชดำเนินต่างประเทศ ได้เสด็จเยี่ยมและทรงดูงานห้องสมุดชั้นนำหลายแห่ง ซึ่งได้พระราชทานข้อแนะนำแก่สมาคมห้องสมุดแห่งประเทศไทยฯ และบรรณารักษ์ไทยในการนำความรู้ไปพัฒนาห้องสมุดโรงเรียนและห้องสมุดประชาชนรวมทั้งห้องสมุดประชาชนเฉลิมราชกุมารีที่เป็นแหล่งเรียนรู้เพื่อขยายโอกาสให้ประชนในการพัฒนาการรู้หนังสือ นอกจากนี้ยังทรงพระกรุณาเสด็จพระราชดำเนินเป็นองค์ประธานในการประชุมสามัญประจำปีของสมาคมห้องสมุดแห่งประเทศไทยฯเสมอมา รวมทั้งได้เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเป็นประธานในโอกาสที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพการประชุมสมาพันธ์สมาคมห้องสมุดฯนานาชาติ (IFLA) และมีพระราชดำรัสเปิดการประชุม IFLA ครั้งที่ 65 ที่กรุงเทพมหานครในปี 1999
ด้านการต่างประเทศ พระองค์ได้เสด็จพระราชดำเนินเยือนต่างประเทศเป็นครั้งแรกเมื่อคราวที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จฯ เยือนสหรัฐอเมริกาและประเทศในยุโรปอย่างเป็นทางการ ระหว่าง ปี พ.ศ. 2503-พ.ศ. 2504 ในขณะที่มีพระชนมายุ 5 พรรษา หลังจากนั้น พระองค์ก็เสด็จพระราชดำเนินเยือนต่างประเทศเป็นจำนวนหลายครั้ง โดยการเสด็จฯ นั้น พระองค์เสด็จฯ ทั้งในฐานะผู้แทนพระองค์ พระราชอาคันตุกะหรืออาคันตุกะของรัฐบาลประเทศต่าง ๆ    อย่างเป็นทางการ รวมทั้ง เสด็จฯ เป็นการส่วนพระองค์ ซึ่งนอกจากจะทรงงานเพื่อเชื่อมสัมพันธไมตรีระหว่างประเทศแล้ว พระองค์ยังเสด็จฯ ทอดพระเนตรสังคม วัฒนธรรม สถานที่ต่าง ๆ และทรงได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับผู้เชี่ยวชาญในสาขาต่าง ๆ ของประเทศนั้น ๆ และได้ทรงนำความรู้และประสบการณ์ที่ทรงได้ทอดพระเนตรและจดบันทึกมาประยุกต์ใช้กับการทรงงานภายในประเทศด้วย ซึ่งการเสด็จฯ ทรงงานในต่างประเทศของพระองค์ทำให้หนังสือพิมพ์ฝรั่งเศสว่าถวายพระราชสมัญญานามแด่พระองค์ว่า เจ้าฟ้านักดูงานหรือ “Le Princesse Stagiaire” รวมทั้ง พระองค์ยังได้รับการยกย่องจากสมาคมมิตรภาพวิเทศสัมพันธ์แห่งประชาชนจีนว่าทรงเป็น "ทูตสันถวไมตรี"ระหว่างประเทศไทยและประเทศจีน 
นอกจากนี้ พระองค์ยังทรงร่วมมือกับนานาประเทศเพื่อก่อเกิดความร่วมมือในด้านการพัฒนาสังคม อาทิเช่น ความร่วมมือระหว่างประเทศไทยและประเทศลาว ซึ่งพระองค์ได้ทรงมีโครงการตามพระราชดำริทั้งในด้านการพัฒนาคุณภาพชีวิต การให้ความช่วยเหลือทางการแพทย์และการสาธารณสุข การพัฒนาทางด้านการศึกษา เป็นต้น นอกจากประเทศลาวแล้ว โครงการเพื่อการพัฒนาของพระองค์ยังได้ขยายออกไปยังประเทศกัมพูชา ประเทศพม่า และประเทศเวียดนามด้วย นอกจากนี้ พระองค์ยังทรงร่วมมือกับองค์การระหว่างประเทศ ได้แก่ ความร่วมมือกับองค์การสหประชาชาติ พระองค์ทรงให้ความร่วมมือในโครงการอาหารในโรงเรียน ซึ่งเป็นโครงการของโครงการอาหารโลกแห่งองค์การสหประชาชาติ โดยได้แต่งตั้งให้พระองค์เป็นทูตพิเศษของโครงการด้วย, โครงการการศึกษาเพื่อทุกคน เป็นโครงการด้านการส่งเสริมศักยภาพของเด็กชนกลุ่มน้อย ด้วยการศึกษาและอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรม ซึ่งเป็นโครงการขององค์การศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรม รวมทั้ง โครงการการศึกษาหลังประถมศึกษาสำหรับผู้ลี้ภัยและผู้พลัดถิ่น โดยมูลนิธิการศึกษาเพื่อผู้ลี้ภัย สำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ
ด้านการสาธารณสุข จากการที่พระองค์ได้เสด็จพระราชดำเนินไปยังถิ่นทุรกันดาร ทำให้พระองค์ทอดพระเนตรเห็นถึงปัญหาทางด้านสุขภาพอนามัยของราษฎรในชนบท พระองค์จึงมีพระราชดำริจัดทำโครงการต่าง ๆ เพื่อแก้ไขปัญหาสุขภาพอนามัยของราษฎร โครงการแรกที่พระองค์ทรงเริ่ม ได้แก่ โครงการเกษตรเพื่ออาหารกลางวัน เพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนอาหารกลางวันของเด็กนักเรียน ซึ่งโครงการนี้นอกจากจะแก้ปัญหาการขาดแคลนอาหารกลางวันแล้วยังช่วยให้นักเรียนมีความรู้ทางด้านโภชนาการและการเกษตรด้วย และปัญหาที่สำคัญอีกประการหนึ่ง นั่นคือ การระบาดของโรคคอพอกเนื่องจากการขาดสารไอโอดีน พระองค์ทรงแก้ไขปัญหานี้โดยทรงริเริ่ม โครงการควบคุมโรคขาดสารไอโอดีน ด้วยการรณรงค์ให้มีการใช้เกลือไอโอดีนหรือหยดไอโอดีนในการประกอบอาหาร และอบรมให้ความรู้เกี่ยวกับการขาดไอโอดีน ซึ่งโครงการนี้เป็นโครงการที่เสริมการทำงานของกระทรวงสาธารณสุข นอกจากนี้ พระองค์ยังให้ความสำคัญต่อสุขภาพอนามัยของแม่และเด็กในถิ่นทุรกันดารด้วย โดยพระองค์ทรงตระหนักว่าคนเราจะภาวะโภชนาการและสุขภาพอนามัยที่ดีนั้น ต้องเริ่มตั้งแต่ในครรภ์มารดา พระองค์จึงเริ่ม โครงการส่งเสริมโภชนาการและสุขภาพอนามัยแม่และเด็กในถิ่นทุรกันดาร เพื่อให้แม่และเด็กได้รับบริการทางด้านอนามัยอย่างเหมาะสม รวมทั้งได้รับโภชนาการที่ถูกต้องและเหมาะสมในแต่ละพื้นที่
นอกจากนี้ พระองค์ยังทรงจัดตั้งหน่วยแพทย์พระราชทานและหน่วยทันตกรรมพระราชทานเพื่ออกตรวจรักษาราษฎรในถิ่นทุรกันดารที่พระองค์เสด็จฯ เยี่ยมในแต่ละครั้ง รวมทั้งทรงรับผู้ป่วยที่ยากจนเป็นคนไข้ในพระราชานุเคราะห์ด้วย พระองค์เสด็จ ณ โรงพยาบาลต่าง ๆ ในประเทศเยอรมนี ด้วยความเป็นห่วงประชาชนที่เป็นโรคที่เกี่ยวกับกระดูกและจักษุ นำวิทยาการในประเทศเยอรมนีมาสู่เมืองไทย
ด้านศาสนา พระองค์ทรงได้รับการอบรมให้มีความใกล้ชิดกับพระพุทธศาสนาจากสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ทำให้พระองค์ทรงเลื่อมใสในพระพุทธศาสนามาตั้งแต่ทรงพระเยาว์ โดยพระองค์มักมักจะได้รับพระราชทานพระมหากรุณาธิคุณจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวให้เสด็จฯ เป็นผู้แทนพระองค์ เพื่อเป็นองค์ประธานในพิธีที่เกี่ยวข้องกับศาสนา เช่น พิธีเวียนเทียนที่พุทธมณฑล เนื่องในวันวิสาขบูชา วันมาฆบูชา เป็นต้น
ด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ
พระองค์มีพระราชดำริให้นำเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้ในการพัฒนาพัฒนาประเทศหลายประการ ทรงเป็นองค์ประธานกรรมการของโครงการเทคโนโลยีสารสนเทศตามพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ เป็นเลขานุการ โดยมีพระราชดำริให้โครงการต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นนั้นเป็นโครงการนำร่องและใช้เป็นตัวอย่างในการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้ และมีพระราชประสงค์จะให้หน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องกับโครงการนั้น ๆ มารับช่วงต่อไปพระองค์ทรงเริ่มนำเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้กับการพัฒนาการศึกษาของโรงเรียนในชนบท ตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2538 ใน โครงการเทคโนโลยีสารสนเทศสำหรับโรงเรียนในชนบท โดยพระราชทานเครื่องคอมพิวเตอร์และอุปรณ์ที่จำเป็นเพื่อจัดตั้งเป็นห้องเรียนขึ้น และพัฒนามาจนสามารถนำเทคโนโลยีสารสนเทศเข้ามาประกอบการเรียนการสอนในรายวิชาต่าง ๆ ปัจจุบัน มีโรงเรียนในโครงการประมาณ 85 แห่ง โดยมีโรงเรียนในจังหวัดนครนายกเป็นศูนย์กลางการพัฒนาเพื่อนำแนวทางใหม่ ๆ ไปทดลองใช้กับโรงเรียนในชนบทและทรงริเริ่ม โครงการเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อคนพิการ เพื่อให้คนพิการสามารถใช้คอมพิวเตอร์เพื่อสร้างความรู้ ความบันเทิง พัฒนาทักษะ และสร้างอาชีพต่อไปในอนาคต พระองค์ทรงมีคณะทำงานที่จะศึกษาวิจัยเพื่อหาอุปกรณ์ทางเทคโนโลยีและวิธีการช่วยเหลือผู้พิการในแต่ละด้านอย่างเหมาะสม นอกจากนี้ โครงการเทคโนโลยีสารสนเทศตามพระราชดำรินี้ ยังเพิ่มโอกาสให้ผู้ต้องขังในทัณฑสถานได้รับการอบรมและฝึกทักษะในการใช้คอมพิวเตอร์ระหว่างการถูกคุมขัง เพื่อสามารถนำความรู้ที่ได้รับนำไปพัฒนาตนเองและนำไปประกอบอาชีพได้ และมีโครงการสำหรับเด็กป่วยที่ต้องเข้ารับการรักษาภายในโรงพยาบาลเป็นระยะเวลานาน ซึ่งอาจจะทำให้ขาดโอกาสทางด้านการศึกษา โดยใช้คอมพิวเตอร์เป็นสื่อในการเรียนรู้ สร้างความเพลิดเพลิน รวมทั้ง ส่งเสริมพัฒนาการแก่เด็กที่ป่วยด้วย นอกจากนี้ พระองค์ยังนำเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้กับงานทางด้านการเผยแพร่วัฒนธรรมของไทย 76 จังหวัด ผ่านทางอินเทอร์เน็ต โดยมีกระทรวงวัฒนธรรมเป็นผู้ดูแลโครงการนี้
จากพระราชกรณียกิจทางด้านการนำเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้ในการพัฒนาประเทศในด้านต่าง ๆ ทำให้วารสารอินโฟแชร์ ซึ่งเป็นวาสารของสำนักงานด้านเทคโนโลยี สารสนเทศและการสื่อสารของยูเนสโก ได้ตีพิมพ์บทความเฉลิมพระเกียรติการอุทิศพระองค์เพื่อการศึกษาเรียนรู้ด้านสารสนเทศของเด็กและผู้ด้อยโอกาสของไทย รวมทั้ง ยังได้ถวายนาม “IT Princess” หรือ เจ้าหญิง ไอทีแก่พระองค์อีกด้วย

นางสาวพิรุณรัตน์  ศักดิ์แก้ว
รหัสประจำตัว  5511600271
สาขา เทคโนโลยีสารสนเทศ


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น